“สงครามการค้า” พ่นพิษถึงไทยแล้ว! พบสถิตินำเข้าเหล็กชนิดต่างๆมาไทยพุ่งแรง วงการท่อเหล็กมึน! เฉพาะเวียดนามประเทศเดียวส่งมาตีตลาดแล้วกว่าแสนตัน คาดสิ้นปีโตเท่าตัว
สืบเนื่องจากเมื่อเดือน มี.ค. 2561 สหรัฐอเมริกาใช้มาตรา 232 ก.ม.การค้า Trade Expansion Act ปี 1962 ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลกรวมถึงไทย ในอัตรา 25% และ 10% ตามลำดับ ล่าสุด ส่งผลกระทบถึงอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศแล้ว
นายกรกฎ ผดุงจิตต์ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ให้สัมภาษณ์ถึงความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า ขณะนี้มีปริมาณเหล็กนำเข้าชนิดต่างๆสูงขึ้นในอัตราตั้งแต่ 12.2-1,216.1% ที่นำเข้ามาจาก 7 ประเทศหลัก ประกอบด้วย เวียดนาม, อินเดีย, อินโดนีเซีย, จีน, เกาหลี, ไต้หวัน และญี่ปุ่น
“เหล็กลวด-ท่อ” พุ่งแรง!
โดยข้อมูลจากสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในช่วง 5 เดือนแรก ปี 2561 รวมสถิติการนำเข้าเหล็กชนิดต่าง ๆ จาก 7 ประเทศ มายังประเทศไทย อยู่ในระดับที่สูงขึ้นทุกประเทศ และทุกรายการเมื่อเปรียบเทียบกับ 5 เดือนแรก ปี 2560
ทั้งนี้ การนำเข้าดังกล่าวประกอบด้วย ไทยนำเข้าจากเวียดนามในประเภทเหล็กลวด จำนวน 37,838 ตัน หรือเพิ่มขึ้นถึงอัตรา 1,216.1% และไทยนำเข้ามาจากอินเดีย 8,494 ตัน สูงขึ้น 12.2% ไทยนำเข้าเหล็กแผ่นหนาจากอินโดนีเซีย จำนวน 43,966 ตัน เพิ่มขึ้น 93.3% นำเข้าเหล็กเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อนจากจีน จำนวน 257,729 ตัน เพิ่มขึ้น 72.3% นำเข้าท่อเหล็กจากเวียดนาม จำนวน 112,986 ตัน เพิ่มขึ้น 60.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนในช่วงเดียวกัน เป็นต้น
แห่ “สวมสิทธิ์ไทย” แหล่งกำเนิด
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการสวมสิทธิ์เพิ่มขึ้น เมื่อดูจากสถิติการนำเข้าของอเมริกาจากประเทศไทย และการส่งออกของไทยไปอเมริกาในช่วง 3 ปีย้อนหลัง ยังพบอีกว่า เมื่อปี 2558 อเมริกานำเข้าเหล็กทุกชนิดจากไทย จำนวน 106,955 ตัน และไทยส่งออกไปอเมริกา จำนวน 95,333 ตัน มีส่วนเกินอยู่ที่ 11,622 ตัน ปี 2559 อเมริกานำเข้าเหล็กทุกชนิดจากไทย จำนวน 140,341 ตัน แต่ไทยส่งออกไปอเมริกาจำนวน 164,322 ตัน ลดลง 23,981 ตัน และปี 2560 อเมริกานำเข้าเหล็กทุกชนิดจากไทย จำนวน 410,528 ตัน แต่ไทยส่งออกไปอเมริกา จำนวน 381,435 ตัน มีส่วนเกินอยู่ 29,092 ตัน คาดว่าปีนี้จะเพิ่มสูงขึ้นอีกมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล
เลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กล่าวอีกว่า ตอนนี้พบว่า ตัวเลขส่งออกจากไทยไปอเมริกาและตัวเลขอเมริกานำเข้าจากไทยมีความแตกต่าง ไม่เท่ากัน แสดงว่าเกิดการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้าเหล็กมากขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกลุ่มทุนต่างชาติ เช่น จีนมาตั้งโรงงานในไทย เพื่อมาขอใบ C/O (Country of Origin) ซึ่งเป็นใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าในประเทศไทยแล้ว นำเหล็กที่ผลิตในไทยดังกล่าวส่งออกไปพร้อบกับเหล็กนำเข้าจากจีนไปยังประเทศ ที่ 3 เพื่อแสดงว่า เหล็กทั้งหมดมีแหล่งกำเนิดในไทย โดยนำเหล็กนำเข้ามาสวมสิทธิ์ด้วย
“การอาศัยไทยเป็นแหล่งสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้า เพื่อส่งออกไปยังอเมริกาและสหภาพยุโรป จะทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยในระยะยาว รวมถึงผู้ผลิตเหล็กไทยจะถูกใช้มาตรการทางการค้าไปด้วย”
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ก่อนหน้านั้นได้เสนอให้กรมการค้าต่างขอความร่วมมือ ส.อ.ท. และหอการค้าหยุดปล่อยใบอนุญาต C/O ในพิกัดศุลกากร 72 และ 73 และถ้าผู้ประกอบการจะขอใบอนุญาตดังกล่าว ให้ไปขอที่กรมการค้าต่างประเทศเพียงแห่งเดียว เพื่อเป็นการควบคุมป้องกันการสวมสิทธิ์ชั่วคราวก่อน แต่ก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา
ด้านนายพงศ์เทพ เทพบางจาก นายกสมาคมผู้ผลิตเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เปิดเผยว่า ปริมาณเหล็กในช่วง 5 เดือนแรกที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นนั้น มาจากเหตุผลหลัก คือ 1.เป็นผลิตภัณฑ์เหล็กชนิดที่ภายในประเทศมีความต้องการใช้สูงขึ้น , 2.ในประเทศไทยไม่มีมาตรการป้องกันทางการค้าใด ๆ กับเหล็ก ที่มีการนำเข้ามาจำนวนมาก เช่น ท่อเหล็ก ที่ขณะนี้ยังไม่มีการเปิดไต่สวน ทั้งที่รัฐใช้เวลาพิจารณานานกว่า 1 ปีมาแล้ว และเหล็กเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อน หรือ เหล็กจีไอ รัฐไม่ปกป้อง โดยอ้างว่าไม่ทำให้ผู้ผลิตในประเทศเสียหาย ทั้งที่ในความเป็นจริงได้รับผลกระทบแล้ว โดยบางรายเลิกผลิต หันไปนำเข้าแทน บางรายปรับไลน์ผลิตใหม่ และบางรายเลิกผลิตไป เพราะแข่งขันไม่ได้
“ส่วนเรื่องที่มีการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดสินค้า ส่วนหนึ่งเกิดจากที่บางประเทศต่อรองกับอเมริกาขอเลี่ยงภาษี 25% เพื่อแลกกับการส่งออกไปอเมริกาเป็นโควตา เช่น เคยส่งไป 10,000 ตัน ก็ลดลงเหลือ 70% แต่ยังมีปริมาณที่เหลืออีก 30% ที่ถูกผลักออกมาประเทศอื่นแทน เช่น เกาหลีมาตั้งโรงงานในไทย ผลิตเหล็ก 10,000 ตัน แต่เกาหลีจะมีส่วนที่นำเข้ามาอีก 20,000 ตัน แล้วนำทั้งหมดนี้รวม 30,000 ตัน ส่งออก โดยระบุแหล่งกำเนิดสินค้ามาจากไทย”
นายวรพจน์ เพียรอภิธรรม นายกสมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น กล่าวว่า ผลจากมาตรา 232 ของสหรัฐอเมริกา เพิ่มความรุนแรงการแข่งขันในตลาดท่อเหล็กเข้มข้นขึ้น เนื่องจากขณะนี้เวียดนามส่งท่อเหล็กชนิดต่าง ๆ เข้ามาตีตลาดในราคาถูกกว่าผู้ผลิตไทยราว 10% หรือ ขายในราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 23,000-24,000 บาทต่อตัน และพบว่า เพียง 5 เดือนแรก การนำเข้าโตกว่า 112,000 ตัน เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากเวียดนามปีที่แล้วทั้งปี มีจำนวน 150,000 ตัน คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะมีการนำเข้ามากกว่าเท่าตัว เวลานี้ได้แต่วิงวอนให้กระทรวงพาณิชย์เร่งออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ เอดี เหล็กนำเข้าจากเวียดนามให้เร็วกว่านี้ เพราะสัดส่วน 95% เป็นการนำเข้าท่อเหล็กมาจากประเทศดังกล่าว
ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ
ประกาศซื้อ-ขายขยะรีไซเคิลทุกชนิด ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย คลิกที่นี่