ขวด ขวด และขวด ไม่ว่าจะมองไปทางไหน เราก็เจอแต่ขวดน้ำ จนตอนนี้ขยะจากขวดพลาสติกมีปริมาณมากขนาดที่สามารถพันรอบโลกได้มากกว่า 150 รอบกันเข้าไปแล้ว จริงอยู่ว่าขยะดังกล่าวถูกนำไปรีไซเคิล แต่ก็มีปริมาณที่น้อยมากหากเทียบกับจำนวนขยะที่มีทั้งหมด ซึ่งหากจะรอการย่อยสลายก็ปาเข้าไปอีก 450 ปี นั่นจึงเป็นที่มาที่ทำให้บรรดานักออกแบบและนักประดิษฐ์ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นต่างทดลองปลุกชีพขยะดังกล่าวด้วยหน้าที่ใช้งานแบบใหม่ ทั้งเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน เลยไปจนถึงการสร้างนวัตกรรมอีกมากมาย เช่นเดียวกับ Ashis Paul นักประดิษฐ์ชาวบังคลาเทศที่ใช้ขวดพลาสติกเป็นต้นทางในการทำพัดลมทำความเย็น ที่ไม่ต้องพึ่งไฟฟ้า แต่ใช้หลักการ fluid dynamics หรือพลศาสตร์ของเหลวในการทำความเย็น
Eco-Cooler เป็นไอเดียที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญระหว่างที่ Ashis กำลังสอนการบ้านวิชาฟิลิกส์ให้ลูกสาว เขาก็ฉุกคิดได้ว่าอากาศจะเย็นขึ้นได้ก็เมื่อมีการเคลื่อนที่ผ่านอย่างรวด เร็ว เขาจึงนำหลักการดังกล่าวมาประยุกต์เพื่อสร้างพัดลมไอเย็นขึ้น ซึ่งพัดลมที่สามารถปรับอุณหภูมิให้เย็นลงได้อย่างน้อย 5 องศาเซลเซียสที่ว่าสามารถทำได้ง่ายๆ โดยในขั้นตอนแรกคือการเลือกหน้าต่างต้องการติดตั้ง จากนั้นก็ตัดแผ่นไม้กระดานให้พอดีกับขนาดช่องหน้าต่างและเจาะรูจำนวนมาก เพื่อสอดปากขวดน้ำพลาสติกใช้แล้วขนาด 2 ลิตร ที่มีการตัดด้านล่างออกเป็นรูปกรวยเข้าไปในแผ่นไม้กระดานตามแบบพิมพ์เขียว โดยเมื่ออากาศไหลผ่านด้านกว้างของขวดมายังคอขวด อากาศก็จะถูกบีบผ่านช่องว่างขนาดเล็กบริเวณปากขวด ทำให้อากาศไหลเร็วขึ้น ด้วยวิธีนี้จึงทำให้อากาศเย็นไหลเข้าสู่ด้านในบ้านนั่นเอง
Eco-Cooler ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรอย่าง Intel บริษัทผู้ผลิตชิฟคอมพิวเตอร์รายใหญ่ Garmeen กลุ่มธนาคารเพื่อคนยากไร้ในบังคลาเทศ และบริษัทโฆษณา Grey Group ในการร่วมทดลองและผลิตต้นแบบจำลองจนสามารถใช้งานได้จริง ก่อนจะช่วยเผยแพร่โครงการดังกล่าวผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้คนที่ประสบปัญหาสามารถนำไปประดิษฐ์พัดลมดังกล่าวด้วยตนเอง ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการช่วยเหลือและติดตั้ง Eco-Cooler ให้กับชาวบ้านไปแล้วกว่า 25,000 หลังคาเรือน ในหมู่บ้าน Nilphamari Daulatdia, Paturia Modonhati และ Khaleya และเริ่มขยายตัวไปทั่วทั้งบังคลาเทศ โดยอาสาสมัครจะเข้าไปสอนชาวบ้านทีละขึ้นทีละตอน
พัดลมไอเย็นไร้ไฟฟ้าเครื่องแรกของโลกที่ Ashis ตั้งใจประดิษฐขึ้นเพื่อช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติ รวมถึงผู้ที่ประสบปัญหาแบบเดียวกันเท่าที่จะช่วยได้เครื่องนี้ นอกจากช่วยแก้ปัญหาการอยู่อาศัยท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุในบังคลาเทศและ พื้นที่ที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน แต่ยังเป็นทางออกที่เอื้อประโยชน์โดยตรงแก่กลุ่มผู้ยากไร้ รวมทั้งเป็นอีกหนึ่งวิธีในการนำขยะจากขวดพลาสติกมาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ ดีขึ้นให้แก่ผู้คนและลดจำนวนขยะที่เกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ในเวลาเดียวกันด้วย
ที่มา: The observer
ขอขอบคุณ: creativecitizen.com